“ประวัติศาสตร์จะไม่ให้อภัยเรา หากเราไม่ฉวยโอกาส เอาอำนาจเสียตอนนี้” (“History will not forgive us if we do not assume power now”) V.I. Lenin

7 พฤศจิกายน 1917 วันนี้เมื่อ 100 ปีก่อน เวลาประมาณ 10.00 น. คณะกรรมการปฏิวัติฝ่ายทหาร ได้ตีพิมพ์คำวิงวอนของเลนิน


ถึงพลเมืองรุสเซีย
รัฐบาลเฉพาะกาลได้ถูกขับไล่ออกไปแล้ว อำนาจแผ่นดินได้ตกอยู่ในมือของสภาโซเวียต ของผู้แทนกรรมการและทหารแห่งนครเปโตรกราด คือ คณะกรรมการปฏิวัติฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นผู้นำชนกรรมาชีพและทหารเปโตรกราด


บนแม่น้ำเนวา เรือรบหลวงออโรรา เรือรบหลวงที่เคยเดินทางมากรุงเทพฯ เมื่อครั้งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ 6 ปีก่อน (1911) ได้ถูกนำเคลื่อนเข้าจอดบริเวณฝั่งตรงข้ามพระราชวังฤดูหนาว

21.40 น. เสียงปืนใหญ่ใส่กระสุนหลอกดังขึ้น ให้สัญญาณโจมตีพระราชวังฤดูหนาวเป็นครั้งสุดท้าย จวบจนเที่ยงคืน กำลังของฝ่ายปฏิวัติ ที่ประกอบด้วยปัญญาชนฝ่ายซ้าย กรรมกร และชาวนา ก็สามารถบุกเข้าไปยังตัวอาคารได้ บรรดานักเรียนนายร้อยได้ทำการต่อสู้อย่างดุเดือดจากห้องกว่าหนึ่งพันห้องของพระราชวังฤดูหนาว

ราวตีสองของวันที่ 8 พฤศจิกายน 1917 พระราชวังจึงถูกยึดได้ และรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาลถูกจับทั้งหมด

การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่นี้ ถูกเรียกว่า การปฏิวัติเดือนตุลาคม หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “การปฏิวัติสังคมนิยมแห่งเดือนตุลาคมอันยิ่งใหญ” (Great October Socialist Revolution) รวมทั้งยังมีชื่อต่างๆ เช่น ตุลาคมแดง, การลุกฮือเดือนตุลาคม

เหตุการณ์นี้ นำไปสู่สงครามกลางเมืองรัสเซีย ที่กินเวลาถึง 5 ปี และเป็นก้าวสำคัญในการเริ่มต้นของการสถาปนารัฐสังคมนิยมแรกของโลก ภายใต้ชื่อสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตรัสเซียต่อมาเป็นสหภาพแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต จ้าวแห่งวงการคอมมิวนิสต์และจุดประกายการปฏิวัติอื่นๆในกาลต่อมา อาทิ มองโกเลีย จีน คิวบา เวียดนาม ลาว ฯลฯ

ส่วนสาเหตุที่เรียกเหตุการณ์นี้ว่าการปฏิวัติเดือนตุลาคม เพราะสมัยนั้น นับเอาปฏิทินจูเลียน ซึ่งเป็นแบบเก่า ช้ากว่าปฏิทินเกรโกเรียนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ 13 วัน ซึ่งวันแห่งการปฏิวัตินี้ จะตรงกับวันที่ 25 ตุลาคม

เมื่อครั้งรัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต ถือว่าวันที่ 7 พฤศจิกายนของทุกๆ ปี เป็นวันชาติ และมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนเป็นวันที่ 4 พฤศจิกายน (วันรวมชาติ) ปัจจุบัน มีการเดินพาเหรดบริเวณจัตุรัสแดงในทุกวันที่ 7 พฤศจิกายน แต่ไม่ได้เพื่อเป็นการรำลึกถึงการปฏิวัติโดยตรง แต่เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี 1941 ที่ทหารของโซเวียตเดินสวนสนามสู่แนวหน้าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ปูตินกล่าวถึงการปฏิวัติเมื่อ 100 ปีก่อนไว้ว่า

“เมื่อเรามองกลับไปยังบทเรียนจากศตวรรษที่ผ่านมา เรามองเห็นคำตอบที่กำกวม และมีทั้งผลพวงทั้งด้านบวกและด้านลบจากเหตุการณ์นั้น”

“เราต้องตั้งคำถามว่า มันเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะไม่ใช้การปฏิวัติเพื่อการพัฒนา แต่คือการพัฒนาแบบทีละก้าว ค่อยเป็นค่อยไปโดยปราศจากการทำลายรัฐและศรัทธาของผู้คนนับล้าน”

วันที่

24-02-2018

หมวดหมู่

,

เรื่องโดย

@worldexplorer