ไครเมียเป็นภูมิภาคตากอากาศที่สำคัญที่สุดของรัสเซีย โดยเป็นคาบสมุทรทางตอนใต้ยื่นไปในทะเลดำ มีอากาศอบอุ่นทั้งปี จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่นอกจากคนรัสเซียธรรมดาๆ จะไปพักผ่อนที่ไครเมียแล้ว บรรดาเหล่าผู้ปกครองชาวรัสเซียก็นิยมไปสร้างที่พักตากอากาศถาวร ณ ภูมิภาคนี้ด้วย พระราชวังลิวาเดียเป็นหนึ่งในนั้น โดยพระราชวังลิวาเดียถือเป็นบ้านพักตากอากาศที่สำคัญที่สุดของราชวงศ์โรมานอฟ และเป็นพระราชวังสุดท้ายที่ราชวงศ์โรมานอฟสร้างขึ้น และแม้จะหมดอำนาจไปในเวลาต่อมา สถานที่แห่งนี้ยังกลายเป็นที่พักตากอากาศของผู้ปกครองในยุคสหภาพโซเวียตต่อมาอีกด้วย

แล้ว 9 ข้อ + 1 ของพระราชวังลิวาเดียน่ารู้ยังไง ……


1) ลิวาเดียเป็นพระราชฐานตากอากาศของราชวงศ์

พระราชวังลิวาเดียตั้งอยู่ทางตอนใต้ของไครเมีย ไม่ไกลจากตัวเมืองยัลตาอันเป็นเมืองตากอากาศยอดนิยมของ ชาวรัสเซียทั่วๆไป สภาพอากาศในเขตนี้ได้ชื่อเป็นแหล่งพักฟื้นและเป็นแหล่ง พักผ่อนที่สำคัญของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการสร้างทางรถไฟในศตวรรษที่  19 ในปี 1861 พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 (Alexander II) ทรงซื้อที่ดินในตำบลลิวาเดียและสร้างพระราชวังขึ้นมาแห่งหนึ่งเพื่อเป็นของกำนัลแก่พระมเหสีและจากนั้นไม่นานก็สร้างพระราชวังน้อยพระราชทานแก่ซาเรวิชอเล็กซานเดอร์ (Tsarevich Alexander) ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์และจะเป็นผู้ที่เสด็จแปรพระราชฐานมาที่นี่บ่อยครั้งและสวรรคต ณ ที่นี่เช่นกัน

ณ โบสถ์กางเขนศักดิ์สิทธิ์แห่งลิวาเดีย (Church of the Holy Cross) นี่เองที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) ทำการขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาและที่โบสถ์แห่งเดียวกันนี้เจ้าหญิงอาลิกซ์แห่งเฮสส์ (Princess Alix of Hesse and by Rhine) ได้ทรงทำพิธีเปลี่ยนศาสนาเป็นรัสเชียนออร์โธด็อกซ์และได้รับพระนามใหม่เป็นอเล็กซานดร้า เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna) ผู้เป็นซารีนาในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2


2) ลิวาเดียเป็น “ดาช่า” ที่แพงที่สุดของราชวงศ์โรมานอฟ

ตามพระราชประสงค์ในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ทรงให้ทุบพระราชวังลิวาเดียเดิมทิ้งและสร้างพระราชวังใหม่ให้โอ่อ่าใหญ่โตกว่าองค์เดิมซึ่งพระราชวังใหม่นี้ก็ยังอยู่มาจนทุกวันนี้ พระเจ้าซาร์ทรงใช้ทุนหลายล้านรูเบิลทองคำในการก่อสร้าง มีการวางศิลาฤกษ์ในปี 1910และแล้วเสร็จหลังจากนั้นเพียง 17 เดือน


3) ลิวาเดียเป็นพระราชฐานสำหรับการผ่อนคลายและนันทนาการ

พระราชวงศ์มักเสด็จแปรพระราชฐานไปยังลิวาเดียเป็นประจำในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง โดยเสด็จโดยรถไฟพระที่นั่งจากเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กไปยังเซวาสโตปอลและเสด็จต่อโดยเรือพระที่นั่งไปยังท่าเรือยัลต้าพร้อมขบวนรับเสด็จที่ใหญ่โตสมพระเกียรติ พระเจ้าซาร์ พระราชินีซารีนาและบรรดาพระธิดาและโอรสจะทรงพระเกษมสำราญกับการสูดอากาศบริสุทธิ์ เดินเล่น ว่ายน้ำ อาบแดด ล่าสัตว์หรือขับรถเล่นในระหว่างการแปรพระราชฐาน นอกจากนี้ยังทรงโปรดเทนนิสและการถ่ายภาพซึ่งภาพถ่ายบางส่วนยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน พระราชวงศ์เสด็จมายังลิวาเดียครั้งสุดท้ายในฤดูใบไม้ผลิในปี 1914 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จะปะทุขึ้นและตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างฉับพลันในปี 1917


4) ลิวาเดียถูกออกแบบโดยนิโคลัย คราสนอฟ สถาปนิกหลวงหนุ่มไฟแรง

พระราชวังลิวาเดียได้รับการออกแบบโดยนิโคลัย คราสนอฟ สถาปนิกหลวงผู้มีพื้นเพจากครอบครัวชาวนา ขณะที่เขาอายุเพียง 24 ปีก็ได้รับพระราชบัญชาจากวังหลวงให้เป็นหัวหน้าคณะสถาปนิกให้ออกแบบตึกรามบ้านช่องในเมืองยัลตา อาคารที่สำคัญๆมากกว่า 60 แห่งถูกออกแบบโดยคราสนอฟ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1917 คราสนอฟลี้ภัยไปยังนครคอนสแตนติโนเปิล มอลตา และกรุงเบลเกรดตามลำดับ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ คาราโชเชวิช (Alexander Karajorjevich) แห่งยูโกสลาเวียทรงแต่งตั้งเป็นสถาปนิกหลวงและรับพระบัญชาให้ออกแบบพระราชวังหลายแห่งของยูโกสลาเวีย โดยหนึ่งในนั้นเป็นพระราชวังแห่งเดดิน (Dedin) ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์


5) ลิวาเดียออกแบบในสไตล์อิตาเลียน

พระราชวังสร้างในรูปแบบวิลล่า สไตล์นีโอ-เรอเนสซองส์แบบอิตาเลียน (Italian Neo-Renaissance Villas) มีโซนสวนที่เปิดโล่ง มีระเบียงและการตกแต่งภายในที่ปราณีตและหรูหราโดยมีหินอ่อนขาวไครเมียเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ในส่วนที่มีความเป็นอิตาเลียนที่สุดคงจะเป็นบริเวณสวน (Courtyard) ซึ่งอุดมไปด้วยความเขียวขจี ล้อมรอบด้วยเฉลียงอันมีส่วนโค้งที่งดงาม มีน้ำพุหินอ่อนที่สวยงามอยู่ตรงกลาง


6)ลิวาเดียเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการออกแบบแบบผสมผสา

ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 สถาปัตยกรรมรูปแบบผสมผสาน (Eclecticism) กลายมาเป็นที่นิยมและรู้จักกันมากขึ้น สถาปนิกเริ่มนำรูปแบบต่างๆมาหลอมรวมเข้าด้วยกันและลิวาเดียก็ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของรูปแบบเหล่านั้น บนชั้น 2 ของพระราชวังถูกออกแบบในสไตล์โมเดิร์น (สมัยนั้น) ในขณะที่ตัวโบสถ์ถูกออกแบบในรูปแบบไบแซนไทน์ที่ดูขรึมและเก่าแก่ ในขณะเดียวกันช่องกระจกรับแสง 2 ช่องถูกออกแบบต่างกัน แบบแรกในสไตล์โกธิค (Gothic) และไคเมร่า (สัตว์ประหลาดแบบหนึ่ง) แบบที่สองในสไตล์อาหรับแบบดินเผาและสไตล์ตะวันออก


7) การตกแต่งภายในบางส่วนดังเดิมยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1917 พระราชวังไม่ได้ถูกใช้เพื่อพระราชวงศ์อีกต่อไป ในยุคสหภาพโซเวียตลิวาเดียกลายมาเป็นสถานพักฟื้น สิ่งตกแต่งภายในอันวิจิตรเช่นเสาหินและเตาผิงหินอ่อนคาร์ราร่าในห้องเสวย ห้องรับรองสไตล์จาคอบมะฮอกกานีและเครื่องทองเหลือง รวมไปถึงห้องบิลเลียร์ดแบบอังกฤษและพรมแขวนประดับทอมือถักเป็นพระฉายาลักษณ์พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และพระราชวงศ์ยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน


8) ลิวาเดียกลายเป็นพิพิธภัณฑ์หลังยุคปีรีสตรอยกา

ทันทีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1917 พระราชวังลิวาเดียกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รักษาสมบัติของราชสำนักโรมานอฟในช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลายมาเป็นสถานพักฟื้นวัณโรคของบรรดากรรมาชีพโซเวียตจนกระทั่งโยซิฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียตผู้ทรงอำนาจถึงแก่อสัญกรรมในปี 1953 ลิวาเดียจึงกลายมาเป็นบ้านพักตากอากาศของผู้นำระดับสูงของสหภาพโซเวียตจนกระทั่งในปี 1993 ลิวาเดียกลับมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมอีกครั้ง


9) ลิวาเดียเป็นสถานที่จัดการประชุมยัลตาของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ลิวาเดียเป็นสถานที่จัดการประชุมยัลตาของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในฐานะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยมีประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าภาพอย่างโยซิฟ สตาลิน (Josif Stalin) ผู้นำสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต โดยห้องในพระราชวังกว่า 43 ห้องถูกใช้ในการประชุมดังกล่าว


+1) พระราชวังลิวาเดียเคยเป็นที่ประทับรับรองของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ใครเล่าจะทราบว่าพระราชวังแห่งนี้มีความหมายและเชื่อมโยงกับชาวไทย หลังการเสด็จสยามของซาเรวิชนิโคลัส มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียผู้ที่ต่อมาจะขึ้นเป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงส่งสมเด็จพระเจ้าจ้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) ไปยังรัสเซียเพื่อถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯมหาจักรีบรมราชวงศ์แบบประดับเพชรและเป็นการเยือนตอบแทนแด่พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 และ ซาเรวิชนิโคลัสในเดือน พ.ย. 1891 โดยมีการรับเสด็จเป็นทางราชการซึ่งรัฐบาลรัสเซียจัดถวายอย่างสมพระเกียรติ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์รัสเซียต่างให้ความสนิทสนมอย่างเป็นกันเองในขณะที่กรมหมื่นดำรงฯ ประทับอยู่ ณ พระราชลิวาเดียแห่งนี้


อ้างอิง:
บทความ The last Romanov residence: facts about Livadia Palace
และข้อมูลจากหนังสือ รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ ๕-๖ โดย อ. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จทวีปยุโรป พ.ศ. ๒๔๓๔

วันที่

02-05-2018

หมวดหมู่

เรื่องโดย

@worldexplorer