พระเจ้าซาร์ของรัสเซีย คือผู้มีอำนาจสูงสุดของจักรวรรดิรัสเซีย แต่ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 300 ปี ของราชวงศ์โรมานอฟ มีพระเจ้าซาร์หลายพระองค์ที่ประสบชะตากรรมที่ร้ายแรง

และอย่างที่เราทราบกันดี คือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ต้องเสด็จสวรรคตพร้อมครอบครัวโรมานอฟในปี 1918 จากการถูกสังหารหมู่ที่เมืองเยคาเตรินเบิร์ก แต่ก่อนหน้านี้ ยังมีพระเจ้าซาร์อีก 4 พระองค์ ที่ต้องเสด็จสวรรคตอย่างน่าเศร้า

ลองมาชมกันว่า มีพระองค์ไหนบ้าง และสาเหตุคืออะไรกัน


1.  พระเจ้าซาร์อิวานที่ 6 (Ivan VI Antonovich of Russia)

Cr.ภาพโดยศิลปินนิรนาม

ซาร์อิวานที่ 6 หรือ อิวาน อันโตโนวิช (1740-1764) ประสูติมาในช่วงเวลาที่เรียกกันว่ายุคแห่งการยึดอำนาจวังหลวงในช่วงศตวรรษที่ 18 เมื่อผู้ปกครองผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันครองอำนาจอย่างรวดเร็วฉับพลันจากอิทธิพลของขุนนางในราชสำนัก พระองค์ถูกสถาปนาให้เป็นซาร์ตอนพระชนมายุเพียง 2 เดือน สืบทอดต่อจากพระนางอันนา อิวานอฟนาในปี 1740 ในอีก 2 เดือนต่อมาฝ่ายขุนนางผู้สนับสนุนซาร์อิวานที่ 6 ก็พ่ายแพ้แก่ฝ่ายตรงข้าม

พระเจ้าซาร์อิวานที่ 6 ที่ยังไม่ทันได้เดินเตาะแตะก็ถูกคุมขังไปด้วย พระองค์ถูกคุมขังในปราสาทที่ห่างไกลและตัดขาดจากการติดต่อกับผู้คนโดยสิ้นเชิงในตลอดวัยพระเยาว์  ในปี1764 ทหารกลุ่มหนึ่งพยายามยึดอำนาจและปล่อยพระองค์ให้เป็นอิสระ แต่สุดท้ายอิวานที่ 6 ผู้น่าสงสารก็ถูกผู้คุมแทงจนสิ้นพระชนม์ เพื่อไม่ให้ฝ่ายผู้ก่อการชิงตัวไปได้ สิริพระชนมายุรวม 23 พรรษา ปิดฉากพระชนม์ชีพที่น่าเศร้


2.  พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 3 (Peter III of Russia)

ภาพวาดโดย Lucas Conrad Pfandzelt

ซาร์ปีเตอร์ที่ 3 (1728 – 1762) ผู้ประสูติในชาติกำเนิดเป็นเจ้าชายเยอรมัน มีพระนาม คาร์ล ปีเตอร์ อุลริช ทรงเป็นหลานตาของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช เมื่อพระนางเอลิซาเบ็ธที่ 1 สมเด็จป้าสวรรคตจึงขึ้นครองบัลลังก์สืบเป็นพระเจ้าปีเตอร์ที่ 3  พระองค์ครองบัลลังก์ได้เพียง 6 เดือนก็ถูกยึดอำนาจโดยทหารรักษาพระองค์ โดยเฉพาะอเล็กเซย์ ออร์ลอฟ ภายใต้การขยิบพระเนตรของพระนางแคเทอรีน ชาวเยอรมัน พระมเหสี เนื่องจากพระองค์ดำเนินนโยบายที่นิยมปรัสเซียมากเกินและกำลังจะก่อสงครามกับเดนมาร์กโดยพลการ

พระนางแคทเทอรีนพระมหสีขึ้นครองอำนาจสืบต่อเป็นซารีนาแคทเทอรีนที่ 2 ในขณะที่อดีตซาร์ปีเตอร์ที่ 3 ถูกคุมขัง ณ พระราชวัง ณ เมือง Ropsha ก่อนจะสิ้นพระชนม์ใน 1 สัปดาห์ต่อมาโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สิริพระชนมายุรวม 34 พรรษา บ้างก็ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์โดยบังเอิญในขณะที่ต่อสู้ในที่คุมขังด้วยเหตุบันดาลโทสะ บ้างก็ว่าออร์ลอฟเป็นผู้ลงมือภายใต้ความเห็นชอบของซารีนาแคทเทอรีนที่ 2 นั่นเอง


3. พระเจ้าซาร์ปอล (ปาเวล) ที่ 1 (Paul I of Russia)

ศิลปินผู้วาดภาพ : Vladimir Borovikovsky

พระเจ้าซาร์ปาเวลที่ 1 (1754-1801) พระโอรสของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 3 และพระนางแคเทอรีนที่ 2 (มหาราช)  ซาร์ปาเวลที่ 1 ทรงเกลียดชังพระมารดาตัวเองมาก โดยพระนางแคทเธอรีนมหาราชก็ทรงรู้ พระนางแคทเธอรีนจึงตอบโต้ด้วยการสนับสนุนให้หลานย่า – เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ขึ้นครองบัลลังก์ต่อ แต่ไม่ทันการ พระองค์ขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าซาร์ปาเวลที่ 1 และดำเนินนโยบายนิยมปรัสเซียและทหารนิยมอย่างเข้มงวด เจริญรอยตามพระราชบิดา รวมไปถึงการยกเลิกนโยบายต่างๆ และดูถูกเหยียดหยามมรดกทุกอย่างของซารีนาแคทเทอรีนมหาราช ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ขุนนางและขุนทหาร ซาร์ปาเวลที่ 1 รู้พระองค์ดีว่าไม่เป็นที่นิยมและทรงหวาดระแวง จึงสร้างปราสาทส่วนพระองค์เพื่ออาศัยแทนที่วังหลวง (ปราสาทเซ็นต์มิคาอิล) ที่พระองค์เชื่อว่าจะปลอดภัยและคุ้มครองพระองค์ได้ 

แต่ในที่สุดคณะรัฐประหารคือนายพลนิโคลัย ซูบอฟและปีเตอร์ ฟอน เดอร์ พาเลินผู้ว่าราชการกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กร่วมมือกับทหารรักษาพระองค์ในปราสาท บุกเข้าไปในห้องบรรทมเข้าทุบตีและใช้ผ้าพันคอรัดพระศอจนสิ้นพระชนม์ ณ พระที่ สิริพระชนมายุรวม 46 พรรษา วันต่อมาพระโอรสของพระองค์และหลานย่าของพระนางแคทเทอรีนมหาราชก็ขึ้นครองบัลลังก์สืบต่อเป็นพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ว่ากันว่าทรงมีส่วนรู้เห็นกับคณะรัฐประหารแม้ลึก ๆ ไม่ได้คาดคิดว่าพระบิดาจะต้องถูกสังหาร


4. พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 (Alexander II of Russia)

พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 (1818-1881) ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “ซาร์นักปฏิรูป” ด้วยเหตุที่พระองค์คิดว่ารัสเซียมีความล้าหลังเป็นเหตุ ทำให้แพ้สงครามไครเมียในปี 1853 ซึ่งเป็นเหตุให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 พระราชบิดาต้องตรอมพระทัยสิ้นพระชนม์

ตลอดรัชกาลทรงดำเนินนโยบายปฏิรูปหลายด้าน ที่สำคัญที่สุดคือการเลิกทาส แต่การปฏิรูปของพระองค์ก็ทำให้เกิดขบวนการปฏิวัติหลายกลุ่มซึ่งเริ่มใช้ความรุนแรงและหมายเอาชีวิตของราชวงศ์และขุนนาง พระองค์ทรงรอดชีวิตจากระเบิดห้องห้องหนึ่งในพระราชวังฤดูหนาวโดยกลุ่มนาโรดนายา โวลนา (People’s Will) และการลอบยิงในหลายๆครั้ง จนกระทั่งในวันที่ 1 มีนาคม 1881 กลุ่มผู้ก่อการจุดระเบิดในขณะที่ขบวนรถม้าพระที่นั่งแล่นผ่าน พระองค์ในขณะที่พระวรกายบาดเจ็บยังทรงรีบรุดเข้าไปช่วยทหารคอสแซ็ครักษาพระองค์ที่บาดเจ็บด้วย ในขณะนั้นเองผู้ก่อการชาวโปแลนด์ Ignacy Hryniewiecki ได้โยนระเบิดเข้าใส่ซ้ำพลีชีพตนเอง พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทรงสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาจากการบาดเจ็บสาหัสพระเพลาขาด สิริพระชนมายุรวม 62 พรรษา

พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระโอรสและผู้ครองบัลลังก์สืบต่อรับสั่งให้สร้างวิหารหยดเลือดอุทิศแด่พระราชบิดา ณ จุดที่พระองค์ถูกระเบิดบาดเจ็บสาหัสก่อนสิ้นพระชนม์

วันที่

25-02-2018

หมวดหมู่

, ,

เรื่องโดย

@worldexplorer